วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556
















  มาตรฐานการขานลูกและหลุม
ในเกมที่ผู้เล่นต้องมีการขานลูกและหลุมก่อนการแทง ผู้เล่นจะต้องระบุลูกและหลุมที่จะเล่นก่อนการแทงทุกครั้ง ยกเว้นลูกที่มีความชัดเจน รวมทั้งเส้นทางในการแทงและขั้นตอนในการแทงด้วย ว่าจะเข้าชิ่งก่อน หรือไปโดนลูกอื่นแล้วทำให้ลงหลุมไปหรือไม่ ผู้เล่นสามารถระบุลูกที่จะตบได้เพียง 1 ลูก “ผู้ตัดสิน” จะพิจารณาว่าลูกที่ผู้เล่นแทงลงไปเป็นลูกที่ก้ำกึ่งหรือชัดเจน ผู้เล่นจะต้องระบุให้ทราบก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะลูกที่ต้องเกี่ยวข้องกับการกระทบชิ่ง หรือสัมผัสกับลูกอื่นก่อนลงหลุม หาก “ผู้ตัดสิน” ไม่แน่ใจว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร “ผู้ตัดสิน” มีสิทธิ์ที่จะสอบถามได้ในเกมที่ต้องมีการขานหลุม ผู้เล่นสามารถเล่นลูก “Safety” โดยการขานคำว่า “Safety” ก่อน ซึ่งจะทำให้“เที่ยวแทง” ของผู้เล่นยุติลงหลังจากแทงออกไป ลูกที่ถูกตบลงหลุมไปจะนำกลับมาตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้นๆ
  การหยุดของลูกหลังเที่ยวแทง
ในกรณีที่ลูกมีการขยับเล็กน้อยหลังจากที่หยุดแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากรอยบนผ้าหรือพื้นผิวของโต๊ะที่ไม่เรียบ ให้ถือว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแทง ยกเว้นหากการเคลื่อนไหวนั้นทำให้ลูกเกิดตกหลุมลงไป ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกกลับมาตั้งใหม่ให้ใกลกับตำแหน่งเดิมให้มากที่สุด หาก “ลูกเป้า” ตกหลุมไปเองในระหว่างที่ “ลูกคิวบอล” ได้ถูกแทงออกไปแล้ว ซึ่งทำให้มีผลต่อการแทงในไม้นั้น “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำลูกทั้งหมดกลับมาตั้ง แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง ผู้เล่นจะไม่ถกปรับแต้ม ในกรณีที่ลูกมีการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง (ดูกติกา ข้อ 8.3 ลูกลงหลุม)
   การนำลูกกลับมาตั้งโดยผู้ตัดสิน
เมื่อใดก็ตามที่“ผู้ตัดสิน” จำเป็นต้องนำลูกกลับมาตั้งหรือทำความสะอาด “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำลูกกลับไปตั้งในตำแหน่งที่เหมือนเดิมมากที่สุด และผู้เล่นต้องยอมรับในดุลยพินิจของ “ผู้ตัดสิน” ในตำแหน่งที่นำกลับไปตั้งใหม่นั้นๆ
 การรบกวนจากภายนอก
หากเกิดมีการรบกวนใดๆ ขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับผู้เล่น แต่มีผลในเที่ยวแทงนั้นๆ “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกกลับมาตั้งที่จุดเดิมให้ใกล้เคียงที่สุด แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้รบกวนหรือเกี่ยวข้องกับการเล่น “ผู้ตัดสิน” จะขยับลูกที่ถูกรบกวนกลับไปยังตำแหน่งเดิม แล้วให้ผู้เล่นเล่นต่อไป หากลูกที่ถูกรบกวนมีปัญหาไม่สามารถนำกลับไปตั้งใหม่ได้ “ผู้ตัดสิน” อาจตกลงกับคู่แข่งขัน ให้เริ่มเล่นเกมนั้นใหม่อีกครั้ง
การโต้แย้งในกติกาหรือผู้ตัดสิน
หากผู้เล่นมีความข้องใจว่า “ผู้ตัดสิน” ทำการตัดสินผิดพลาด ผู้เล่นอาจทักท้วง เพื่อให้ “ผู้ตัดสิน” พิจารณาการตัดสินใหม่ให้ถูกต้อง และหาก “ผู้ตัดสิน” ยังยืนยันการตัดสินนั้น ให้ถือเป็นเด็ดขาด และหากผู้เล่นยังเห็นว่า “ผู้ตัดสิน” ยังมีความผิลาดอยู่ ผู้เล่นอาจเรียกร้องให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันเข้ามาช่วยคลี่คลายข้อกังขาได้ “ผู้ตัดสิน” จะหยุดการแข่งขันไว้ระยะหนึ่งในขณะที่มีการตรวจสอบกติกาและคำตัดสินนั้นๆ (ดูกติกา หัวข้อ (4) ในข้อ 6.16 การกระทำอันไม่เป็นสุภาพบุรุษ) การทำฟาล์วจะต้องมีการขาฟาล์วในทันที (ดูข้อ 6 การทำฟาล์ว)
การยอมแพ้
หากผู้เล่นยอมแพ้ ถือว่าผู้เล่นแพ้ใน “แมตช์” นั้น เช่น ถ้าผู้เล่นถอดไม้คิวออกจากกันในขณะที่คู่แข่งขันเล่นอยู่ที่โต๊ะ ในขณะที่การแข่งขันอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการแพ้-ชนะ การกระทำเช่นนี้ถือว่าผู้เล่นต้องการยอมแพ้แล้ว ถือว่าเกมการแข่งขันจบสิ้นลงทันที
การเล่นในจุดอับ
เมื่อ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า ตำแหน่งของลูกบนโต๊ะอยู่ในตำแหน่ง “จุดอับ” ที่ไม่มีผู้เล่นผู้หนึ่งใดยอมเปลี่ยนการเล่น และทำให้เกมยืดเยื้อ“ผู้ตัดสิน” จะให้โอกาสผู้เล่นอีกคนละ 3 ครั้ง หากสถานการณ์ยังเหมือนเดิม “ผู้ตัดสิน” จะสอบถามผู้เล่นทั้งคู่ ว่ายินยอมให้ตั้งลูกเล่นใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ อาจทำได้โดยไม่ต้องแทงอีกคนละ 3 ไม้ กติกาในข้อนี้มีระบุไว้ในเกมพูลแต่ละเกมด้วย